top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
พิชาวีร์ เมฆขยาย

รักตัวเองให้เป็น


รักตัวเอง

“To love one’s self is the beginning of a life long romance.”

- Oscar Wilde

กวีชาวไอริชกล่าวไว้ว่า การรักตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ยืนยง การเรียนรู้ที่จะรักตัวเองนั้นเป็นพื้นฐานของการเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมโดยรวม

คนที่รักตัวเองไม่เป็นจะมีอารมณ์แปรปรวนเนื่องจากเขาปล่อยให้เงื่อนไขภายนอก หรือท่าที่ของผู้อื่น ๆ มากำหนดสภาวะอารมณ์ หากผู้อื่นมีท่าทีที่ดีเขาก็จะมีความสุข แต่หากวันไหนผู้อื่นแสดงท่าทีที่ไม่ดี คนคนนั้นก็จะรู้สึกหม่นหมอง ซึมเซา คนประเภทนี้มักจะเรียกร้องความรักด้วยการพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาใจคนอื่น แม้ว่าบางครั้งอาจทำให้ตัวเองลำบากก็ตาม

เขามักคิดแบบแพ้/ชนะ ดังที่ Stephen R. Covey ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “The 7 Habits of Highly Effective People” ว่าคนเหล่านี้โดยปกติจะชอบเอาใจผู้อื่น เขาแสวงหาความเข้มแข็งจากความเป็นที่นิยมหรือได้รับการยอมรับ ไม่ค่อยกล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองหรือแง่คิดของตนเอง และถูกคุกคามจากความเข้มแข็งในอัตตาของผู้อื่นได้ง่าย แต่คนที่รักตัวเองเป็นนั้นจะสามารถรักษาความสงบสุข ความมั่นคงภายในตัวเองได้ สภาพอารมณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายนอกหรือท่าทีของผู้อื่น เขาสามารถปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการทำสิ่งนั้น นั่นเพราะเขาไม่ตัดสินคุณค่าของตัวเองจากสิ่งตอบสนองภายนอกนั่นเอง

หลายคนที่ผิดหวังจากความรักมักจะจมอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจ ทุกข์ทรมาน ไม่สนใจตัวเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม บางคนถึงขนาดคิดทำร้ายตัวเองหรือแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย ที่เป็นแบบนี้เพราะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีคุณค่าอีกต่อไป

นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล กล่าวไว้ในบทความ “ติวรักให้เต็มร้อย” ว่า การไม่เห็นคุณค่าตัวเองไม่ใช่เพราะคนนั้น “ไม่มีคุณค่า” แต่เป็นเพราะ “ขาดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า” คนเหล่านี้มักมองตัวเองในทางลบ เห็นแต่ข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่รู้สึกยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี เมื่อเห็นว่าใครดีกว่าก็รู้สึกอิจฉาริษยา จึงทำให้ตัวเองรู้สึกดีด้วยการพยายามกดคนอื่นให้ต่ำลง

การเห็นคุณค่าในตัวเองไม่เหมือนกับการหลงตัวเอง เห็นได้ง่าย ๆ จากการได้รับคำตำหนิหรือคำวิจารณ์จากผู้อื่น คนที่หลงตัวเองจะไม่พอใจหรือรู้สึกโกรธต่อคำวิจารณ์นั้น ในขณะที่คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองพร้อมรับเอาคำวิจารณ์มาพิจารณา หากเห็นว่าเป็นจริง เขาก็จะยอมรับและหาทางแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นเสีย

ประการแรกต้องยอมรับก่อนว่าไม่มีใครจะสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครที่จะแย่ไปเสียทุกด้าน คนเรามีทั้งดีและไม่ดี ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าเราจะสามารถหาข้อดีข้อด้อยของตนเองได้หรือไม่ เมื่อพบแล้วเราจะยอมรับในข้อบกพร่อง พยายามปรับปรุงแก้ไขหากทำได้หรือไม่ และพยายามส่งเสริม พัฒนาข้อดีของเราให้โดดเด่นได้หรือไม่

แม้ตัวเราเองที่คุ้นเคยที่สุดก็ยังไม่สามารถเห็นคุณค่าที่มีอยู่ ก็ย่อมเป็นการยากที่จะมองเห็นความดีของผู้อื่นได้ คนที่รักและเห็นคุณค่าในตัวเองจะสามารถชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความจริงใจ นั่นเพราะเขารู้ถึงความแตกต่างของตัวเขาและคนอื่น “ฉันคือฉัน และคุณก็คือคุณ” เขาสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาแสดงท่าทียอมรับก่อน ยิ่งกว่านั้นเขายังจะเป็นฝ่ายยอมรับและเคารพผู้อื่นก่อนเสียอีก

สุดท้าย คนคนนั้นจะพบว่า “ความสุขที่แท้จริงเกิดจากความรู้สึกยอมรับ ยกย่อง ศรัทธา เห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น” นั่นเอง

Comments


bottom of page