top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
พิชาวีร์ เมฆขยาย

5 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดบ้านด้วยตัวเอง


5 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดบ้านด้วยตัวเอง ด้วยความที่แวนเป็นคนที่รักการทำงานมาก เวลาส่วนใหญ่ของแวนเลยทุ่มเทให้กับการทำงาน แล้วจ้างแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดบ้านให้ และมองว่าการจัดบ้านและทำงานบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญลำดับท้ายๆ ของกิจกรรมในชีวิต แต่หลังจากได้ดูซีรีย์ Tidying up with Marie Kondo (ไม่ได้ค่า sponsor หรือเจตนาจะโปรโมทอะไร) ที่เป็นเรื่องราวของที่ปรึกษาการจัดบ้านที่ชื่อ โคนโด มาริเอะ ซึ่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าแต่ละเคสจัดบ้านที่ยุ่งเหยิงของตัวเอง แวนก็เห็นว่าการจัดบ้านมันเป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองที่น่าสนใจ แวนจึงใช้เวลาระหว่างหยุดพักผ่อนช่วงหยุดยาวลงมือจัดระเบียบออฟฟิศและบ้านด้วยตัวเอง หลักการคือต้องการสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นที่ที่จุดประกายความสุข อยู่แล้วเกิดแรงบันดาลใจ กระบวนการของมาริเอะเน้นย้ำว่า เจ้าของสถานที่และเจ้าของสิ่งของต้องผ่านกระบวนการนี้ด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ คือ ต้องเป็นคนลงมือจัดการเอง การพิจารณาว่าจะทิ้งหรือเก็บอะไรไว้นั้นน่าสนใจมาก โดยมาริเอะให้ค่อยๆ หยิบของขึ้นมาทีละชิ้นแล้วสังเกตความรู้สึกของตัวเองว่า :

  • สิ่งนั้นจุดประกายความสุขให้คุณหรือไม่ (Spark joy)

  • สิ่งนั้นทำให้คุณเข้าใกล้ตัวตนในอุดมคติที่คุณอยากเป็นหรือไม่

  • คุณจะพาสิ่งนั้นไปอนาคตกับคุณด้วยหรือไม่

หลังจากนั้นแวนใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการค่อยๆ จัดการทีละพื้นที่ ทีละห้อง เอาเอกสารทั้งหมดมา กองรวมกัน แล้วตัดสินใจทีละชิ้น แวนจึงได้เรียนรู้ 5 ข้อจากกระบวนการนี้

1. กิจกรรมนี้ทำให้เราได้มีเวลากับสิ่งของทุกชิ้นของตัวเอง เพื่อพิจารณาว่าสิ่งนั้นสำคัญกับชีวิตเราจริงๆ หรือไม่ สุดท้ายก็พบว่า ของมากกว่าครึ่งไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเลย บางชิ้นก็ถูกเก็บไว้ในซอกหลืบโดยที่ไม่เคยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราจริงๆ ยิ่งทำให้แวนตระหนักได้ว่า ตัวเองกำลังสะสมสิ่งของที่มากเกินพอดีสำหรับชีวิต ซึ่งมันไม่ได้จุดประกายความสุข และยิ่งทำให้เรารู้สึกอึดอัดโดยไม่รู้ตัว แต่หลังจากที่คุณสามารถตัดทิ้งไปได้และจบกระบวนการ คุณจะรู้สึกเบาสบายอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียว

2. กิจกรรมนี้ทำให้ตระหนักในเรื่องการใช้จ่ายเงินซื้อสิ่งของที่สุดท้ายแล้วแทบไม่มีผลต่อชีวิต ไม่จำเป็น และสุดท้ายต้องทิ้งเงินนั้นไปฟรีๆ เช่น ของกระจุกกระจิก เสื้อผ้าที่ไม่เคยหยิบมาใส่ รองเท้าที่ไม่เคยสวมออกไปไหน หรือหนังสือที่ไม่ได้อ่าน ซึ่งมันจะมีผลต่อการซื้อครั้งต่อไปของแวนเอง ที่จะพิจารณามากขึ้นว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญมากพอที่เราจะจ่ายเงินให้กับมันหรือไม่

3. กิจกรรมนี้ทำให้ได้พัฒนาทักษะที่สำคัญมากๆ ถึงสองทักษะ นั่นคือ 1) ทักษะการจัดระบบระเบียบสิ่งต่างๆ (Organization) ที่คุณจะต้องจัดหมวดหมู่และหาพื้นที่ให้กับสิ่งของต่างๆ อย่างลงตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในการคิดที่เกี่ยวข้องกับระดับความฉลาด (IQ) ด้านการคิดเชิงตรรกะ และ 2) ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) ว่าคุณจะทิ้งหรือเก็บสิ่งไหนไว้ มันทำให้คุณได้เด็ดขาดมากขึ้น

4. หากคุณได้ลงมือและจบกระบวนการนี้ได้ แสดงว่าคุณได้เอาชนะใจตัวเอง และเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อเริ่มลงมือทำและทำต่อจนเสร็จ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือช่วงตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ ยิ่งหากคุณได้เห็นกองสิ่งของที่มหึมา คุณอาจจะยิ่งอยากถอดใจ รวมถึงช่วงที่ยุ่งเหยิงสุดๆ คือตอนที่คุณเห็นของกระจัดกระจายเกลื่อนเพื่อรอการจัดการ คุณอาจจะตกอยู่ในอาการทำอะไรไม่ถูก หันซ้ายหันขวาอยู่นานสองนาน จนอยากจะเดินหนีแล้วไปทำอย่างอื่นที่บันเทิงใจกว่า

5. กิจกรรมนี้ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเอง การนับถือตัวเอง และความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะกว่าคุณจะทำให้มันเสร็จสิ้นไปได้ ต้องใช้ความมุ่งมั่นและความตั้งใจมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทำ หรือมีสิ่งของเยอะที่ไม่ได้เคลียร์มานาน แล้วสุดท้ายเมื่อเห็นผลลัพธ์นั้นแล้ว มันจะทำให้คุณเข้าใกล้ตัวตนในอุดมคติเข้าไปอีก

น่าประหลาดใจว่ามีงานวิจัยที่พบความเชื่อมโยงระหว่างการมีที่อยู่อาศัยที่น่า เป็นระเบียบ อยู่กับความมั่นใจในตัวเอง และความภาคภูมิใจในตัวเองของคนเราอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คุณไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้เลยหากคุณไม่ผ่านกระบวนการนี้ด้วยตัวเอง เรื่องนี้วัด ROI หรือ Return On Investment ได้ยาก แต่รับประกันว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับกระบวนการภายในของคุณ ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองที่น่าสนใจมากทีเดียว

Comments


bottom of page