top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
รูปภาพนักเขียนพิชาวีร์ เมฆขยาย

5 mindset การพัฒนาตัวเองที่คุณควรต้องมีในยุค Disruption ศตวรรษที่ 21

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า สังคมและโลกใบนี้ก็เคลื่อนไปเร็วมาก เทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนอย่างมากมาย และคุณจะเห็นว่าโลกในทุกวันนี้ ในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนรวดเร็วยิ่งกว่ายุค 80s หรือ 90s เสียอีก เมื่อวานเกิดสิ่งใหม่ วันนี้ก็มีอีกหลายสิ่งใหม่เกิดขึ้นอีกแล้ว โดยเฉพาะการมีอินเตอร์เน็ต การขยับจาก 2G 3G 4G 5G จึงเกิด Disruption หรือการเกิดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้อีกสิ่งหนึ่งหายไป ซึ่งนอกจากการสื่อสารรวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนจะเปลี่ยนเร็วแล้ว ยังกระทบกับธุรกิจ วิธีการทำงาน อาชีพ Mindset และการพัฒนาตัวเองของคนทั้งโลกอีกด้วย


เมื่อโลกขยับและเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น Mindset บางอย่างจากอดีตยุคดั้งเดิมอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป คนในสังคมเองจึงต้องอัพเดท Mindset ของตัวเอง ให้เหมือน software ในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่ต้องอัพเดทเวอร์ชั่นของตัวเองให้เข้ากับการทำงานของแอ๊พพลิเคชั่นและแพลทฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างดี


นอกจาก Growth mindset ที่หมายถึงการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณยังควรเช็ก Mindset ของตัวเองในด้านอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เหมาะสมและใช้ได้ดีกับยุคสมัยต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ครั้งนี้แวนจะมาอัพเดท Mindset เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง 5 ข้อ ที่มาชวนคุณสังเกตตัวเองกัน


  1. ความมั่นคงหมายถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา : หากความมั่นคงสำหรับคุณ คือการอยู่ในวิถีชีวิตที่สงบสุขสะดวกสบาย ไม่ต้องดิ้นรน ปรับปรุงหรือกดดันตัวเองให้พัฒนาอะไรให้ยุ่งยาก เรียกว่าอยู่ใน comfort zone ไปจนแก่ นั่นอาจจะเป็น mindset อันตราย เพราะยุคนี้แทบจะไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ความมั่นคงในยุคนี้จึงหมายถึงการสามารถมีชีวิตอยู่ได้ดีและเติบโตไม่ว่าสภาพสังคมจะเป็นอย่างไร การปรับตัวถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นหนึ่งในความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ด้วยเช่นกัน

  2. การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดชีวิต : การเรียนรู้ของคนเราไม่ได้อยู่เพียงในสถานศึกษาหรือในช่วงวัยเรียนเท่านั้น ยิ่งคุณจบออกมาแล้วคุณยิ่งต้องเรียนรู้ให้กว้าง และเรียนรู้ในอัตราที่เร็วขึ้นอีกด้วย เพราะสิ่งที่คุณเรียนรู้มาจากสถานศึกษาอาจจะล้าสมัยไปแล้วในบางเรื่อง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องอัพเดทความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากความรู้แล้ว คุณยังต้องอัพเดททักษะด้วย รวมถึงในยุคนี้คุณสามารถเรียนรู้จากแหล่งไหนก็ได้ แม้กระทั่งคนที่อาวุโสกว่าก็สามารถเรียนรู้แนวคิดบางอย่างจากคนรุ่นใหม่กว่าก็ได้

  3. ชีวิตเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ก็ได้ : การเกษียณไม่ใช่การสิ้นสุดของการใช้ชีวิต คุณลองจินตนาการดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคุณหากคุณมีอายุหลังเกษียณต่อไปอีก 40 ปี เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ล้ำหน้าไปมาก เป็นเหตุให้คนเรามีอายุยืนขึ้น ดังนั้น mindset ของคนเราควรจะเปลี่ยนตามยุคสมัย อายุ 60 ปีไม่ใช่การหยุดพัก แต่คือการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ ดังจะเห็นผู้สูงอายุจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เช่น บางคนก็ลุกขึ้นมาเรียนเขียนโค้ด เขียนแอ๊พพลิเคชั่นบนมือถือ บางคนก็กลายเป็นคนแคสเกม บางคนก็ดังใน tiktok ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็ต้องการทักษะใหม่และความรู้ใหม่ที่อัพเดท ลองหมั่นออกไปคุยกับคนต่างวัยกับคุณดู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หากคุณเชื่อว่าชีวิตเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ก็ได้แล้ว จะทำให้คุณกระตือรือร้นและไม่หมดไฟไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

  4. คนเรามีอาชีพได้มากกว่าหนึ่ง : ลักษณะการทำงานของโลกยุคปัจจุบันค่อนข้างต่างจากเมื่อก่อนอย่างมาก เมื่อก่อนคนเรามักจะต้องเข้าออฟฟิศหรือโรงงานเพื่อไปทำงานเต็มเวลา และการจะไปทำงานที่สองที่สามนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเวลาอาจทับซ้อนกัน หรือไม่สะดวกที่ต้องเดินทางไป แต่ยุคสมัยนี้นิยามในการประกอบอาชีพนั้นเปลี่ยนไป คุณสามารถรับงานฟรีแลนซ์บนทักษะความเชี่ยวชาญของตัวเอง โดยการนั่งทำงานบนคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แล้วส่งงานให้คนที่จ้างงานคุณโดยอาจไม่ต้องเจอหน้ากันเลยก็ได้ หรืออาชีพขายของออนไลน์ที่สามารถจัดการอยู่ที่บ้านและใช้เวลานอกเวลางานประจำก็ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือการยึดติดกับสิ่งที่คุณเรียนมา เช่น จบบัญชีก็จะตั้งหน้าตั้งตาหาทำงานแต่ด้านบัญชี ทั้ง ๆ ที่ใจคุณอาจจะไม่ได้รัก และพรสวรรค์ของคุณอาจจะอยู่ที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ได้ ดังนั้นคุณไม่ควรยึดติดกับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แต่ควรโฟกัสที่การสร้างทักษะที่สามารถใช้สร้างรายได้ โดยเข้ากับยุคสมัยไปเรื่อย ๆ

  5. เน้นเรียนรู้แบบบูรณาการ : ในยุคสมัยก่อน การศึกษาในประเทศเราค่อนข้างจะแบ่งสายชัดเจนระหว่างสายวิทย์ สายศิลป์ สายคำนวณ ทำให้วิธีคิดของบุคลากรที่มาจากแต่ละสายมีความแตกต่างและเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาก ๆ และอาจคุยกันไม่รู้เรื่องระหว่างคนที่มาจากสายที่ไม่เหมือนกัน แต่การเรียนรู้และการทำงานในปัจจุบันนั้นเราอาจต้องบูรณาการให้มากขึ้น แปลว่า คุณไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะแค่สายใดสายหนึ่ง เพราะการทำงานจริงต่างต้องการวิธีคิดและทักษะจากทุก ๆ สายรวมกัน เช่น โปรแกรมเมอร์ควรมีความสามารถในการเข้าใจผู้ใช้งานจริง คิดในมุมมองของธุรกิจ หรือคิดในมุมมองของการออกแบบ interface ที่ใช้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น คุณไม่ควรแบ่งแยกตัวเองอยู่ในสายวิทย์หรือสายศิลป์ แต่ควรเรียนรู้แบบผสมผสานกัน คุณสามารถเรียนศิลปศาสตร์ควบคู่กับการเรียนเขียนโค้ดดิ้งก็ได้


เมื่อโลกหมุนเร็ว คนเราก็ควรจะหาวิธีวิ่งตามโลกให้ทันขึ้นอีกนิด โดยใช้ความสามารถจากเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ให้การพัฒนาตัวเองของคุณรวดเร็วและมีประสิทธิผลมากกว่าสมัยก่อน อย่าลืมว่าเมื่อสภาพสังคมและบริบทปรับเปลี่ยนไป คุณก็จำเป็นต้องอัพเดทซอฟแวร์ด้านวิธีคิด mindset ความรู้ ทักษะ และนิสัยให้เข้ากับยุคสมัยด้วย นั่นจะทำให้คุณเติบโต และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

Comments


บทความตามหัวข้อ
ติดตามเรา
  • Facebook Basic Square
  • YouTube Social  Icon
bottom of page