top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
รูปภาพนักเขียนพิชาวีร์ เมฆขยาย

โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง 7 วิธีเอาชนะ Impostor Syndrome

โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Impostor Syndrome เป็นภาวะคล้ายกับปัญหาความมั่นใจในตัวเอง ที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก เริ่มแรกในอดีตนั้นมีการค้นพบว่ามักเกิดในเพศหญิงมากกว่า อาจเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมในสังคมในยุคก่อน แต่ปัจจุบันโรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ และไม่น่าเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานหนักและประสบความสำเร็จ


คนที่เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งนี้ มักจะมีอาการไม่มั่นใจในตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องทำเรื่องที่ท้าทาย แถมวิตกกังวลกลัวว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี แม้จะมีผลงานมากมายแต่พวกเขากลับมองว่าความสำเร็จที่ผ่านมาคือเรื่องธรรมดา หรือเป็นเพราะโชคช่วย หรือบางคนก็ไม่กล้าลงมือทำ แต่จะเรียนและเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยพร้อมที่จะลงมือทำ ซึ่งส่งผลไปถึง Self-confidence ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะกวนใจจนกลายเป็นความทุกข์ให้กับคนคนนั้นได้


สาเหตุยังไม่มีใครฟันธงได้ชัดเจน บางงานวิจัยก็บอกว่าเกิดมาจากบุคลิกภาพบางประเภทเช่น คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ (หากไม่สำเร็จ 100% ก็ถือว่าตัวเองทำไม่สำเร็จ) คนที่คาดหวังตัวเองสูงเกินจริง (ไม่เคยดีพอ) หรือบางงานวิจัยก็บอกว่า ประสบการณ์การเลี้ยงดูในวัยเด็กก็มีส่วนอย่างมาก ที่อาจไม่ค่อยได้รับคำชมจากพ่อแม่ ถูกเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะพยายามอ่านหนังสือตั้งใจเรียนให้ดีแค่ไหน ก็รู้สึกว่าไม่เคยทำให้พ่อแม่ตัวเองพอใจได้สักครั้ง


หากคุณกำลังมีภาวะหรืออาการเหล่านี้ ลองหาวิธีรับมือ เพื่อปลดล็อกให้คุณได้มั่นใจในตัวเอง กล้าลงมือทำ และมีความสงบสุขกับตัวเองมากขึ้น ด้วย 7 วิธีนี้


1.ทิ้งอารมณ์ความรู้สึกไว้ก่อน: แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง ว่าที่ผ่านมาคุณทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง ทั้งสิ่งเล็ก ๆ ไปจนถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และอย่าลืมให้เครดิตตัวเองบ้าง ว่าทุกความสำเร็จย่อมมาจากคุณเช่นกัน อาจเกิดจากความพยายาม นิสัย หรือคุณสมบัติบางอย่างในตัวคุณ และอย่าลืมชม รวมทั้งให้กำลังใจตัวเองด้วย


2. ปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ: คุณต้องเริ่มที่ความคิดของตัวเองก่อนว่า คุณไม่ใช่ซูปเปอร์แมน คุณก็คือคนธรรมดา ที่มีผิดพลาดบ้าง มีสำเร็จบ้าง ปะปนกัน รวมทั้งมีเรื่องที่ไม่เก่งไม่ถนัดบ้าง นั่นคือเรื่องปกติ โดยคุณต้องไม่คาดหวังตัวเองสูงเกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทำได้ขนาดนั้น หรือหากทำได้ก็จะเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไปจนสุดท้ายคุณอาจจะ burnout และหมดแรงไป


3. ค้นหาที่มาของความเชื่อว่าตัวเองไม่เก่ง: หลายครั้ง ความเชื่อต่อตัวเองนั้นมาจากประสบการณ์และการเรียนรู้ในอดีต บางครั้งเกิดจากการเลี้ยงดู แนะนำคุณลองใช้เวลาทำความเข้าใจตัวเองว่า ทำไมคุณถึงมีความเชื่อแบบนี้ ลองไล่ย้อนกลับไปดูว่า อะไรที่อาจจะกระตุ้นให้คุณเป็นแบบนี้ เช่น เมื่อก่อนถูกเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นบ่อยครั้ง หรือไม่เคยได้รับคำชมเลย หรือมักถูกตำหนิหรือวิจารณ์อยู่เสมอจนเสียความมั่นใจ เป็นต้น ซึ่งการเข้าใจที่มาของตัวเองคือจุดเริ่มต้นที่ดี และช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมและยอมรับตัวเองได้มากขึ้น


4. พัฒนา Growth mindset: Growth mindset เชื่อในการพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ยอมรับความผิดพลาด กล้าเสี่ยง และกล้าออกจาก comfort zone มองว่าคนเราไม่ต้องเริ่มต้นด้วยความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นคุณควรเช็คว่าตัวเองมีความเชื่อแบบ Growth mindset นี้ หรือ Fixed mindset ที่เชื่อว่าหากคนเราจะเก่งก็เก่งตั้งแต่แรก และยอมรับความผิดพลาดได้ยาก และพัฒนาความเชื่อในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนดีขึ้นเรื่อย ๆ คุณจะได้กล้าเสี่ยงมากขึ้น และยอมรับความผิดพลาดได้มากขึ้น


5. ไว้วางใจให้คนอื่นมาช่วย: ในการทำงานใหญ่คุณก็คงไม่สามารถทำด้วยตัวเองคนเดียวได้ทุกอย่าง การทำงานเป็นทีมหรืออาศัยความสามารถหลากหลายจากคนอื่น ๆ จะทำให้งานเร็วขึ้น ดีขึ้น รวมถึงคุณไม่จำเป็นต้องเหนื่อยเกินไป ลองไว้วางใจและหาคนมาทำในด้านที่คุณไม่ถนัดบ้าง แล้วคุณหันไปโฟกัสทำในสิ่งที่ถนัด ก็จะช่วยปลดล็อกคุณจากความกังวลในการทำในสิ่งที่ไม่ถนัดแล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งไม่เป็นการเสียเวลามากเกินไป


6. ฝึกเริ่มต้นทำ แม้ยังรู้สึกไม่พร้อม: ไม่มีใครรอจนทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยทำ เพราะไม่อย่างนั้นคงจะไม่มีวันได้ทำ หรือช้าเกินไปที่จะทำ ลองแยกสิ่งที่จะทำออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วถามตัวเองว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดที่คุณสามารถเริ่มได้เลยคืออะไร แล้วลงมือทำเลย ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมาในการทำครั้งแรก ๆ ก็คงจะไม่สมบูรณ์แบบหรือยังดีไม่พอ แต่นั่นจะเป็นการฝึกให้คุณเคยชินกับความผิดพลาดหรือล้มเหลวได้นั่นเอง


7. คุยกับใครซักคนที่ไว้ใจ: การได้พูดคุยกับใครซักคนช่วยปลดปล่อยความทุกข์และอึดอัดในใจลงได้มาก และหากคุณได้เจอผู้รับฟังหรือคนให้คำปรึกษาที่ดี นอกจากเขาจะให้เวลาเพื่อรับฟังและเข้าใจคุณแล้ว เขายังอาจสามารถช่วยให้กำลังใจ ทำให้คุณมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป


และนี่คือ 7 วิธีสำหรับรับมือกับความคิดว่าตัวเองไม่เก่งจนบั่นทอนหรือเป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จ ลองเลือกวิธีไปปรับใช้กับคุณนะคะ


เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

Comentarios


bottom of page