โรคซึมเศร้า: ภัยเงียบที่คุกคามชีวิต
หากอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์ทุกวันนี้จะเห็นว่าข่าวการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งจากข้อมูลการวินิจฉัยทางการแพทย์ พบว่า สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายเกิดจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทย 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือกว่า 3 ล้านคนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นในระดับโลก ทางธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ได้วิจัยออกมาแล้วว่าในอนาคตอันใกล้ โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด
สถิติปีล่าสุดที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ในปีนี้ ประเทศไทย กลุ่มผู้ที่ฆ่าตัวตายสูงสุด ได้แก่ กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป และกลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
จากผลการวิจัยจำนวนมาก พบว่า การเศร้ามาก ๆ และความคิดอยากตายมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
แต่ก็มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอีกมากที่ยังไม่ถึงกับคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ตกอยู่ในภาวะความผิดปกติทางด้านอารมณ์ ที่ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข การดำเนินชีวิตในทุกด้านประสบปัญหา โดยที่หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้านี้อยู่ด้วยซ้ำไป ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคนี้ เพื่อจะได้ตรวจสอบตนเอง รวมไปถึงสังเกตบุคคลใกล้ชิด ที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะเรื้อรังและลุกลามจนเกิดปัญหายิ่งใหญ่ตามมา
The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า โรคซึมเศร้า หรือ Major Depressive Disorder ต้องมีอาการดังต่อไปนี้ อีกอย่างน้อย 5 ประการ เกือบทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการเหล่านี้ ได้แก่
1. มีอารมณ์เศร้า ใจคอหดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่แจ่มใสเบิกบาน
2. มีความรู้สึกเบื่อหรือหมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ บางคนอาจมีความรู้สึกทางเพศลดลงด้วยหรือไม่มีเลย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องมีอาการสองประการข้างต้นนี้ ร่วมกันอาการอื่นๆ
3. เบื่ออาหาร ส่วนมากน้ำหนักจะลดลงในครั้งแรกที่เป็น แต่บางคนจะรู้สึกอยากอาหารมากกว่าเดิม
4. นอนไม่หลับ หลับยาก หลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือตื่นบ่อย
5. ความคิดและการเคลื่อนไหวเชื่องช้า หรือรู้สึกพลุ่งพล่านกระวนกระวายใจ ไม่กระตือรือร้น หลายคนพยายามฝืนตนเองเพื่อให้เหมือนปกติ แต่ก็ทำไม่ได้
6. อ่อนเพลียไม่มีแรง แม้ไม่ได้ออกแรง อาจเกิดกับเฉพาะบางส่วนของร่างกาย
7. รู้สึกไร้ค่าหรือตำหนิตัวเองมากผิดปกติ มองตนเองในด้านลบ
8. มีความคิดอยากตาย คิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย เมื่อเป็นมากขึ้นจนถึงจุดที่ไม่อาจทนต่อไปได้ จึงหาทางหนีจากความทรมานนี้ และหาทางออกด้วยการจบชีวิต หากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการตามเงื่อนไขข้างต้น ควรรีบหาทางแก้ไขโดยการไปปรึกษาแพทย์ หรือปรึกษาทางโทรศัพท์ ที่ https://www.istrong.co/service
อย่าปล่อยให้สายจนเกินแก้
Comments