3 วิธีสลัดตัวเองออกจากความกลัวคนอื่นเกลียด
ธรรมชาติของ haters มีอยู่ทุกที่ คุณไม่สามารถควบคุมได้เลยว่า ทั้งชีวิตนี้จะต้องไม่มีใครไม่ชอบขี้หน้าคุณ หากบังเอิญคุณหน้าเหมือนคนข้างบ้านที่ชอบแกล้งเขาในวัยเด็ก คุณก็มีสิทธิ์ถูกเขาคนนั้นไม่ชอบขี้หน้าอย่างอธิบายเหตุผลไม่ได้อยู่ดี แล้วคุณจะไปทำอะไรได้? ดูตัวอย่างนักร้องดังระดับโลกมากมาย พวกเขาจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง แม้จะต้องแลกกับการมี haters เต็มไปหมด แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในระดับที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง รวมทั้งมีสาวกที่เทอดทูนพวกเขาสุดหัวใจ ในทางกลับกัน หากคุณพยายามทำตัวกลาง ๆ ไม่โดดเด่นเพื่อกันไม่ให้คนไม่ชอบ สุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนน่าเบื่อ และหาจุดเด่นไม่เจอ จำไว้ว่า หากคุณเลือกที่จะโดดเด่น แน่นอนว่าจะมีคนหมั่นไส้คุณ เพราะธรรมชาติคนเรามักไม่ค่อยอยากให้ใครได้ดีกว่าตัวเอง เพราะมันจะทำให้พวกเขามองตัวเองแย่ พวกเขาจึงแสดงออกโดยการทำให้คุณเสียความมั่นใจ คุณจะได้ลดความโดดเด่นของตัวเองลงบ้าง มาถึงจุดนี้คุณต้องชั่งใจแล้วว่าจะเลือกข้างไหน ระหว่างเป็นตัวของตัวเองแล้วมีความสุขและโดดเด่น กับมีความสงบเพราะไม่มีใครมาคอยเกลียดขี้หน้า แต่จืดชืดและไม่ได้มีความสุขมากนัก รวมถึงไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วย มาดูกันว่า คุณจะเริ่มปลดล็อคตัวเองออกจากความกลัวนี้ได้อย่างไรบ้าง
1. ฝึกปฏิเสธให้เป็น คนที่กลัวไม่เป็นที่ชื่นชอบมักจะเลือกตอบและเลือกทำเพื่อเอาใจคนอื่น แต่พวกเขาลืมไปแล้วว่า พวกเขาก็ต้องดูแลใจของตัวเองเช่นกัน บางครั้งแค่การปฏิเสธไม่ไปรับประทานอาหารบางมื้อด้วยก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือการจะกล้าบอกว่า เรากลับก่อนนะ เรามีธุระที่ต้องทำ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร หากใครไม่เคยทำ อาจจะลองฝึกทำในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนก็ได้ เพียงแต่คุณต้องระวังการสื่อสารและคำพูด ที่ต้องสุภาพ และจริงใจในเหตุผลและความจำเป็นที่คุณต้องปฏิเสธนั้นจริง ๆ นอกจากคนอื่นไม่ได้เกลียดคุณอย่างที่คิดแล้ว พวกเขาอาจเคารพและเกรงใจคุณมากขึ้นอีกด้วย
2. ฝึกแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับบางคน โดยเฉพาะในสังคมไทย กับคำสอนที่ว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะตามน้ำไปและไม่กล้าทำสิ่งที่แตกต่าง แต่สิ่งนี้ส่งผลให้คุณไม่มี assertiveness หรือการกล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง การกล้าพูดในทางที่แย้งกับอีกฝ่าย หรือเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมให้กับตัวเอง สุดท้ายคุณจะไม่มีจุดยืน เพราะจะไหลไปกับความคิดและการชี้แนะของคนอื่น จนไม่มีชีวิตของตัวเอง บางครั้งการพูดในเชิงไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายอาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา ที่คุณเพียงแต่อยากให้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน โดยไม่ได้เพื่อจะเอาชนะใคร คนทำงานอาจฝึกง่าย ๆ โดยการยกมือเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมบ้าง โดยไม่ต้องสนใจความกลัวที่ว่าคนอื่นจะมองคุณโง่หรือไม่ ซึ่งต้องฝึกทำอยู่บ่อยครั้ง ไม่อย่างนั้นหากทิ้งนานไป คุณจะกลายเป็นคนที่หัวโล่ง แบบคนที่ไม่มีไอเดียหรือความคิดเห็นอะไรเลยไปจริง ๆ
3. ฝึกแสดงออกในแบบที่ตัวเองชอบ โดยไม่ต้องสนใจเลยว่า คนอื่นจะมองอย่างไร บางคนรู้ตัวเองดีว่าชอบแต่งตัวสไตล์ไหน อยากทำผมแบบไหน แต่ไม่เคยกล้าลงมือทำจริง จึงทำได้แต่เพียงเก็บความอยากไว้ในใจ และกลายเป็นคน “ธรรมดา” ที่หาเอกลักษณ์และความเป็นตัวเองไม่เจอ เพียงเพราะคุณมักจะ “สนใจมากเกินไป” ในความคิดเห็นจากคนอื่น การปรุงแต่งด้วยความคาดหวังและความกลัวคนอื่นจะคิดยังไงกับคุณเป็นอุปสรรคที่ทำให้คุณไม่กล้าทำอะไรมากนัก ซึ่งผลเสียที่ตามมาคือ คุณอาจไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพในตัวเอง หรือแม้กระทั่งไม่มีโอกาสรู้จักตัวตนจริง ๆ ของตัวเองก็เป็นได้ ฝึกลงมือทำโดยไม่ต้องกังวลกับความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง หากสิ่งนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ใคร แล้วคุณจะสัมผัสถึงอิสรภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น “อย่ากลัวการไม่เป็นที่ชื่นชอบ แต่จงกลัวการไม่ได้เป็นตัวเอง” หากใช้ชีวิตด้วยความกลัวคนอื่นเกลียดมาทั้งชีวิตแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น คุณก็น่าจะลองทำอะไรที่แตกต่างดูบ้าง
Comentários