top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
พิชาวีร์ เมฆขยาย

8 หลุมพรางของผู้บริหารที่ไม่มีใครอยากร่วมงาน


การประสบความสำเร็จเหมือนดาบสองคม ยิ่งขึ้นสูง อีโก้อาจจะยิ่งเพิ่มระดับสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้คนอื่นอาจทำงานด้วยยากขึ้น เผลอ ๆ อาจจะเพิ่มอัตราการลาออกหรือ Engagement ของทีมลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่สภาพการทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงแบบ Disruption ยุคนี้ ทุกทีมถูกคาดหวังให้ต้องเค้นศักยภาพของทุกคนในทีมออกมาใช้ ดึงจุดแข็งออกมาช่วยให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และบ้าอำนาจอยู่คนเดียว คอยแต่สั่งการ บริหารแบบ micromanagement (จุกจิกและคอยตัดสินใจให้ทุกเรื่องจนทีมงานไม่มีอิสระในการทำงาน) จะยิ่งทำให้ทีมก้าวหน้าได้ยากขึ้น แทนที่จะมอบอำนาจและเปิดโอกาสให้ทีมงานทุกคนได้แสดงพลังและความสามารถ Daniel Goleman กูรูด้านความฉลาดทางอารมณ์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับจุดอ่อนเหล่านี้ของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจต่างๆ และสรุปเป็น 8 หลุมพรางของผู้บริหารที่อาจดูประสบความสำเร็จแต่คนอื่นทำงานด้วยยากเหลือเกิน ดังนี้

1. ทะเยอทะยานจนอันตราย ผู้บริหารเหล่านี้จะมุ่งเอาชนะและตัวเองต้องเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอ มุ่งแต่แข่งขันแทนที่จะร่วมมือ ขยายคุณค่าและผลงานของตัวเองแบบเกินจริง บางครั้งชอบคุยโตและเย่อหยิง บางครั้งมักจะมองคนเป็นเพียงขาวกับดำ คือ ถ้าไม่มาเป็นพวกก็ถูกเหมารวมว่าเป็นศัตรูนั่นเอง 2. ตั้งเป้าหมายที่ยากเกินจริง ผู้บริหารเหล่านี้จะทะเยอทะยานเกินคนปกติมาก จึงตั้งเป้าหมายที่สูงจนเป็นไปไม่ได้ให้ทีมงานหรือองค์กรตัวเอง และคาดหวังว่าทุกคนต้องทำได้ พวกเขามีแนวโน้มจะมองสูงจนมองไม่ตรงกับความเป็นจริง 3. ดิ้นรนแบบไม่หยุดพัก ผู้บริหารเหล่านี้มักทำงานหนักซะจนไม่มีเวลาหยุดพัก เนื่องด้วยความมุ่งมั่นและพยายามอย่างแรงกล้า เบียดเบียนเวลาส่วนอื่นของชีวิต รวมทั้งยังคาดหวังกับทีมงานให้เป็นแบบตัวเองเช่นกัน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหมดไฟและเครียด (Burnout) ในที่สุด 4. ขับเคี่ยวคนอื่นอย่างหนัก ผู้นำกลุ่มนี้มักจะผลักดันทีมงานหนักเกินไป จนทุกคนเครียด พวกเขาบริหารแบบจุกจิกไปทุกเรื่อง โดยไม่ให้อิสระในการทำงานและตัดสินใจกับทีมงาน ควบคุมทุกเรื่องแทนที่จะมอบหมายงานและมอบอำนาจ รวมทั้งมักใช้อารมณ์จนทำให้บรรยากาศตึงเครียดและกดดัน 5. หิวอำนาจ ผู้นำที่มักจะแสวงหาอำนาจเพื่อตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ทำเพื่อทีมหรือองค์กรแต่อย่างใด ผลักดันและนำเสนอแต่ไอเดียของตัวเองโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น 6. กระหายการยอมรับและคำชื่นชม ผู้บริหารกลุ่มนี้จะเสพติดความมีชื่อเสียง มักยกย่องตัวเองและอาจแย่งเครดิตจากผลงานของทีมมาเป็นของตัวเอง (เอาหน้า) แต่กลับกล่าวโทษคนอื่นเมื่อมีความผิดพลาด จากนั้นก็แสวงหาคำชื่นชมจากความสำเร็จต่อๆ ไป 7. ห่วงภาพลักษณ์จนเกินงาม คนกลุ่มนี้จะห่วงภาพลักษณ์ เพื่อให้ตัวเองดูดีทุกขณะ และกังวลกับภาพพจน์ในสายตาคนอื่น รวมทั้งพยายามส่งเสริมเกียรติและอำนาจของตัวเองด้วยสิ่งของ 8. ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ผู้บริหารเหล่านี้มักไม่รับคำวิจารณ์ พยายามหาข้อแก้ตัวเพื่อป้องกันการดูไม่ดี ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองดูเป็นคนผิด จึงมักผลักไสความผิดพลาดให้คนอื่นรับผิดชอบ รวมทั้งมักไม่ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองอีกด้วย หลุมพรางเหล่านี้เป็นเสมือนจุดบอดที่ผู้บริหารหรือผู้นำหลายคนมองไม่เห็นตัวเอง เรียกได้ว่าไม่มี Self-awareness หรือการตระหนักรู้ตัวเอง แต่อย่างใด ซึ่งยิ่งรวมกับนิสัยที่ไม่ยอมรับฟัง Feedback หรือคำวิจารณ์จากคนอื่น ก็จะยิ่งปิดกั้นให้ผู้บริหารเหล่านั้นมืดบอด มองเห็นแต่ตัวเองเท่านั้นที่ดีเลิศ อีโก้สูง จนไม่มีใครอยากร่วมงาน ทีมงานที่เก่งมักจะทำงานด้วยได้ไม่นาน ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง และรวมพลังจุดแข็งของทีมงานเพื่อยกระดับผลงานขึ้นไปอีกขั้น

ทำแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้นำ (EQ) >> ลักษณะเหล่านี้พบเห็นได้ตามองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างกลุ่มบริษัทใน Fortune 500 หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ทะเยอทะยานและสร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง วิธีแก้คือต้องสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริหารเหล่านั้นให้ได้ ซึ่งการตระหนักรู้ในตัวเองเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญมากของผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence; EQ) ไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้บริหารที่มีความสามารถเหล่านั้นอาจกลายเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจและองค์กร ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผู้เขียน แวนเองก็เป็นผู้ประกอบการที่ต้องบริหารทีมงานที่หลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าการนำธุรกิจนั้นผู้นำต้องทะเยอทะยาน ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และทำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโต อย่างไรก็ตาม การที่ผู้นำเก่งคนเดียวจะทำให้ธุรกิจติดกับดัก ติดเพดาน และไม่เติบโต

ทีมงานและองค์กรที่ไปได้ไกลและทำงานใหญ่ได้นั้นต้องอาศัยความสามารถที่หลากหลายด้านของทีมงาน พัฒนาพวกเขาให้เก่ง มอบหมายงานที่น่าสนุก ท้าทาย สำคัญ และมอบอำนาจการตัดสินใจตามขอบเขตที่พอสมควร เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเป็นเจ้าของโปรเจ็คหรืองานนั้นโดยสมบูรณ์ โดยผู้นำต้องไม่ลงไปจุกจิกหรือควบคุมในเรื่องที่มอบอำนาจไปแล้ว และใช้เวลาของตัวเองทำงานในฐานะผู้นำที่ต้องตัดสินใจและวางแผนกลยุทธ์ภาพใหญ่ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้าไปยิ่งขึ้น จากหลุมพรางทั้ง 8 ข้อด้านบนนี้ แวนเองก็ต้องพยายามสำรวจและสังเกตตัวเองอยู่เสมอ (หลายครั้งที่พบว่าตัวเองเข้าข่ายในหลายข้อ) ผู้นำที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าเร็วได้นั้น ต้องแสวงหาข้อมูล Feedback หรือหมั่นเช็คตัวเองกับหลักการหรือแนวทางที่ถูกต้อง เรียนรู้เพื่อปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้นำที่ทั้งประสบความสำเร็จในเรื่องงาน/ธุรกิจ และใครๆ ต่างก็อยากมาร่วมงานด้วย ดังนั้น Self-awareness และ EQ จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากจริงๆ สำหรับผู้นำในทุกระดับ

 

ความฉลาดทางอารมณ์เรียนรู้ได้ คอร์สออนไลน์ เพื่อให้คนทำงานไปเรียนรู้วิธีพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษ 21 ของตัวเองในคอร์ส Emotional Intelligence for Life & Work Success ที่มีทั้งทำแบบทดสอบ ได้รายงานผลเพื่อเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนตัวเอง รวมทั้งจะมีโค้ชติดตามผลคนเรียนแต่ละคนหลังเรียนจบ ดูรายละเอียดได้ที่นี่

Comments


bottom of page