13 สัญญาณบอกว่าคุณกำลังจะหมดไฟ Burnout
‘หมดไฟ’ ปัญหาใหญ่ของคนทำงาน Burnout คือ ภาวะที่อ่อนล้าหมดแรงทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ อันเนื่องมาจากการถูกกดดันหรือตกอยู่ในความเครียดมาเป็นระยะเวลานาน เป็นภาวะที่สะสมความเครียดไว้นานเกินไป ซึ่งหากแค่เหนื่อยหรือหมดแรงตามปกติ คุณอาจนอนพักซักคืนหรือลาพักร้อนซัก 2-3 วันก็ดีขึ้น แต่อาการหมดไฟนี้เรื้อรังและลงลึก แล้ว Burnout ต่างจากเครียด ตรงไหน?
ดูเหมือนว่าความเครียดจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ คุณอาจชวนแฟนไปดูหนังที่ชอบซักเรื่อง ชวนแก๊งเพื่อนไปร้องคาราโอเกะ หรือขับรถไปทะเลช่วงวันหยุด แล้วความเครียดก็หายไป แต่ Burnout จะอยู่ยาวนาน และหายยากกว่า และเกิดผลกระทบมากกว่า เพราะมันอาจจะทำให้คุณตัดสินใจลาออกหรือหนีหายไปเลยก็ได้ อันเนื่องมาจากความรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่ไร้คุณค่า หรือไม่มีใครมองเห็นความพยายามรวมทั้งผลงานที่คุณทำ มาดู 13 สัญญาณต่อไปนี้กันว่า คุณกำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟหรือ Burnout อยู่รึเปล่า 1. เริ่มเกิดทัศนคติในแง่ลบหรือเริ่มวิจารณ์งานหรือที่ทำงาน 2. รู้สึกแย่ที่ต้องไปทำงาน หรือเริ่มรู้สึกอยากหนีไปที่อื่น 3. หมดพลัง ไม่ไฟต์ ไม่ต่อสู้กับอะไรเหมือนอย่างเคย ไม่กระตือรือร้น 4. เริ่มนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือตื่นกลางดึก 5. เริ่มลางานบ่อย หรือแว้บออกไปที่อื่นในเวลางานบ่อย ๆ 6. รู้สึกว่างเปล่า หมดความสนใจ 7. เริ่มเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ไม่สบาย 8. หงุดหงิด โมโหง่ายขึ้น 9. เริ่มคิดว่า ทำไปทำไม? เริ่มคิดว่างานที่ทำไม่สำคัญ ไม่มีคุณค่า 10. ออกห่าง ปลีกตัว ออกจากเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า 11. เริ่มรู้สึกว่า ทำไปก็ไม่มีใครเห็น เหนื่อยฟรี 12. โทษคนอื่นเวลามีเรื่องผิดพลาด 13. เริ่มคิดถึงเรื่องการลาออกหรือขอย้ายงาน หากคุณมีอาการเหล่านี้ตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป นานกว่า 1-2 สัปดาห์ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า คุณอาจกำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะหมดไฟ อะไรที่ทำให้คุณ Burnout?
จริง ๆ แล้วภาวะนี้เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ที่พบได้มากคือ
- การทำงานที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจด้วยตัวเอง คุณจะต้องถูกหัวหน้าหรือใครบางคนจู้จี้จุกจิกไปทุกรายละเอียด จนคุณไม่สามารถทำหรือเป็นตัวของตัวเองได้เลย - เป้าหมายและค่านิยมในชีวิตของคุณไม่ไปในทิศทางเดียวกับทีมหรือบริษัท เช่น องค์กรอาจให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานหนัก ทุ่มเท ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่คุณให้ความสำคัญกับการมีเวลาให้ครอบครัว ต้องมีสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) แบบนี้ก็จะทำให้คุณเกิดอาการหมดไฟได้ในที่สุด หรืออาจมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ เช่น: - เป้าหมายหรือความคาดหวังในงานไม่ชัด ทำตัวไม่ถูก - ทำงานท่ามกลางปัญหาการเมืองในองค์กร ความขัดแย้ง - ทำงานกับคนที่ไม่รับผิดชอบ ความสามารถไม่ถึง หรือระบบการทำงานที่ไม่ดี - ภาระงานโหลดหนักมากเกินไป - ไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้า หรือองค์กร - ทุ่มเททำงานแต่ไม่มีใครมองเห็นความพยายามหรือผลงาน - งานซ้ำซาก น่าเบื่อ ไม่ท้าทายความสามารถ
ข้อสังเกตคือ แม้กระทั่งตัวแวนเองที่ได้ทำในสิ่งที่เป็น Passion มาก ๆ และทำธุรกิจของตัวเอง แต่เมื่อทำงานถึงจุดหนึ่งแล้วไม่ยอมผ่อนคลายหรือพักบ้าง ก็มีสิทธิ์เกิดภาวะหมดไฟได้เช่นกัน บางครั้งถึงขั้นสงสัยว่าตัวเองกำลังซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะหมดแรง เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข อยากนอนเฉยๆ ทั้งวัน ซึ่งอาการคล้ายกับโรคซึมเศร้าหลายอย่าง ดังนั้น คุณจึงควรระวังไม่ให้ตัวเองถูกงานครอบงำมากเกินไป เพราะแม้จะเป็นสิ่งที่คุณหลงใหล แต่หน้างานย่อมต้องเจอกับความเครียดและความกดดันเหมือนกัน ซึ่งหากคุณไม่ยอมให้ตัวเองได้หยุดพักบ้าง ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากคนที่อยู่กับงานที่ตัวเองเกลียดเช่นกัน ผลลัพธ์ของอาการ Burnout นั้นอาจหนักหนาและเกิดผลในทางที่แย่ ๆ กว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากจะทำให้ผลงานคุณแย่ลง ทำงานผิดพลาดมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์หดหาย อาจขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีความสุขในชีวิตแล้ว ยังจะกระทบกับชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัว คุณอาจจะโมโหจนเหวี่ยงใส่คนที่บ้าน หรือปลีกตัวออกห่างจนกระทบความสัมพันธ์ รวมทั้งหากปล่อยไว้นานก็มีสิทธิ์เกิดการป่วยทางจิตใจตามมาได้ด้วย ดังนั้น ลองมาดูวิธีป้องกันและวิธีพาตัวเองให้กลับมาสู่ภาวะปกติกันดีกว่าค่ะ 1. ตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณทำงานนี้ไปทำไม การทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวนั้นเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจมาก ทางที่ดีคุณควรหาเวลาคุยกับตัวเองเพื่อตอบให้ได้ว่า คุณทำงานนี้ไปเพื่ออะไร? เพื่อใคร? งานของคุณช่วยทำให้ชีวิตใครดีขึ้นบ้าง? ทำยังไงให้งานของคุณสร้างผลกระทบในทางที่ดีกับคนอื่นได้มากขึ้นบ้าง? คุณค่าทางจิตใจนั้นประเมินค่าไม่ได้ แม้ไม่เกี่ยวกับตัวเงินแต่สิ่งนั้นก็เติมเต็มความรู้สึกว่าชีวิตของคุณมีความหมาย 2. ขอความชัดเจนในเป้าหมายของงาน หากคุณไม่รู้ว่าหัวหน้าหรือองค์กรคาดหวังอะไรจากคุณ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ คุณควรหาทางคุยหรือขอข้อมูลเพื่อให้ความคาดหวังและเป้าหมายในงานชัดเจนขึ้น หากขอคุยแล้วก็ยังไม่ได้ผล คุณอาจต้องกลับไปที่ Job Description และ KPIs ที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และกลับมาขอคำยืนยันจากหัวหน้าของคุณอีกครั้ง 3. หากลยุทธ์การจัดการความเครียด กลยุทธ์ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีติดตัวไว้เป็นของตัวเอง แต่ละคนจะมีวิธีผ่อนคลายความเครียดและปล่อยวางจากความกดดันทัั้งปวงไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจนอนอ่านหนังสือที่ชอบ บางคนได้เล่นกับน้องหมาน้องแมว บางคนได้ขับรถไกลๆ 4. ดูแลสุขภาพกายให้เป็นปกติ มีปัญหาทางจิตใจยังไม่พอ หากมีปัญหาสุขภาพกายทับถมอีกทุกอย่างก็จะยิ่งแย่ลง โดยเฉพาะกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพกายให้ปกติสุขจึงสำคัญมาก และยิ่งอายุคุณขึ้นเลขสามไปแล้ว จะยิ่งรู้ว่าสำคัญมากๆๆๆๆ เพราะหากกายป่วย แม้ใจสู้แค่ไหนก็จะมีข้อจำกัดอยู่ดี 5. ทำสิ่งที่เป็น Passion ของคุณควบคู่ไปด้วย หากงานที่ทำไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขและ Passion ของคุณ คุณควรจัดการตารางเวลาสำหรับงานอดิเรกหรืองานเสริมที่คุณหลงใหลเพิ่มเข้าไปด้วย แค่การเลิกงานแล้วนอนดูละครนั้นไม่ช่วยในทางจิตใจ แต่คุณต้องทำสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายมากกว่านั้น เหล่านี้คือคำแนะนำง่าย ๆ สำหรับการป้องกันและดึงตัวเองกลับออกมาจากภาวะหมดไฟ แต่หากที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะพยายามด้วยตัวเองแค่ไหนก็ยังไม่สำเร็จ คุณอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งมืออาชีพอย่างนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด
อ้างอิง
Comments