5 ข้ออ้างสุดฮิตของคนที่กลัวความล้มเหลว
(และวิธีแก้ต่างให้ตัวเองลงมือทำซะที) รู้หรือไม่ว่า การไม่ยอมรับว่าตัวเองกลัวจะยิ่งขัดขวางคุณไปสู่ความสำเร็จ เวลาที่คุณรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงหรือต้องตั้งเป้าหมายเพื่อเติบโต คุณจะรู้สึกลัวและกังวลขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โชคร้ายเหลือเกินที่กลไกป้องกันตัวของคุณจะรีบทำงานโดยการเสาะหาข้ออ้างมาให้ เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องลงมือทำจริง และนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการผัดวันประกันพรุ่ง และนี่คือ 5 ข้ออ้างยอดฮิตที่จิตใต้สำนึกของคุณสร้างขึ้นมาปกป้องโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว 1. สิ่งที่คุณรู้สึก : “เป้าหมายนี้ยากเกินไปที่จะทำได้” สิ่งที่คุณคิดในใจ : “ฉันไม่เก่งถึงขั้นนั้นหรอก แล้วจะพยายามไปเพื่ออะไร" หากคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอก็ไร้ประโยชน์ที่จะพยายาม แต่หากคุณเปลี่ยนวิธีคิดว่าเป้าหมายนี้มันยาก จะทำให้คุณหันมาโฟกัสที่การหาวิธีการที่จะพาคุณไปให้ถึงตรงนั้น 2. สิ่งที่คุณรู้สึก : “ฉันกลัวจะล้มเหลว” สิ่งที่คุณคิดในใจ : “ฉันไม่ทำหรอก" มันเป็นเป้าหมายของคุณ แล้วทำไมคุณจะไม่อยากลองล่ะ ดังนั้นหากใจคุณบอกว่าไม่อยากลองให้รู้ไว้เลยว่ามันคือกลไกการปกป้องตัวเองจากความกลัวล้มเหลวที่มาจากจิตใต้สำนึกคุณเอง แต่ข่าวดีก็คือ การรู้ตัวว่ากลัวนั้นคือบันไดขั้นแรกในการเอาชนะมัน รับรู้ถึงความกลัว จากนั้นจงเผชิญหน้ากับมัน 3. สิ่งที่คุณรู้สึก : “มันต้องใช้ความพยายามและการเตรียมการเยอะมาก” สิ่งที่คุณคิดในใจ : “ไม่คุ้มหรอก" อีกเช่นกัน หากเป้าหมายนั้นมีความหมายต่อคุณมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้ความพยายามมากเท่านั้น แต่รางวัลที่รออยู่ปลายทางก็ย่อมคุ้มค่าต่อการลงทุนลงแรงอยู่แล้ว 4. สิ่งที่คุณรู้สึก : “พอบอกให้กำหนดวันเริ่มที่แน่นอนฉันก็เริ่มประสาทเสีย” สิ่งที่คุณคิดในใจ : “ฉันจะทำก็ต่อเมื่อพร้อมจะทำเท่านั้น” หนึ่งในเหตุผลหลักที่คนมักพลาดจากเป้าหมายคือการไม่ยอมกำหนดวันเวลาเริ่มที่แน่นอน ซึ่งการกำหนดลงไปเลยจะเพิ่มความรู้สึกรับผิดชอบและลดแนวโน้มการผัดวันประกันพรุ่ง ง่ายๆ แค่กำหนดวันเริ่มให้ชัดเจนลงใน calendar ของคุณซะ ตั้งเตือนล่วงหน้า แค่นี้เอง 5. สิ่งที่คุณรู้สึก : “ถ้าฉันลงทุนลงแรงเต็มที่แล้วล้มเหลวล่ะก็ ฉันคงเฟลสุด ๆ” สิ่งที่คุณคิดในใจ : “ฉันจะลองทำดูก็ต่อเมื่อฉันคิดว่าฉันทำได้แน่ ๆ” อาการกลัวความล้มเหลวจะทำงานเต็มที่เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คุณลงมือทำ เช่น การมองโลกในแง่ร้ายเพื่อให้มองเห็นโอกาสสำเร็จน้อยลง หรือวาดภาพความน่ากลัวเมื่อล้มเหลว นั่นยิ่งทำให้คุณกั๊กความพยายามที่คุณจะทุ่มเทลงไป และนี่แหละที่จะเพิ่มโอกาสล้มเหลวมากขึ้น ดังนั้นแทนที่จะนึกภาพความล้มเหลว เปลี่ยนเป็นภาพความสำเร็จแทน แล้วลงมือทำเลยดีกว่า
ประเด็นสำคัญคือคุณต้องรู้ตัวว่ากำลังกลัว หันมาเผชิญหน้ากับมัน และลดระดับความคาดหวัง แต่ก็ยังวางแผนให้ทำจนสำเร็จ ... ว่าแล้ว ก็ไปลุยกันเลย!
ที่มา สรุปจากบทความเรื่อง 5 Excuses People With Fear of Failure Make : Denying your fears will sabotage your chances of success โดย ดร. Guy Winch
Комментарии